วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งให้หาย


แนวทางการดูแลสุขภาพรับมือกับโรคมะเร็ง          ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งในหลายประเทศที่มีประชากรป่วยด้วยโรคมะเร็งเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี มะเร็งเป็นเซลล์เนื้อร้ายที่เจริญผิดปกติ แผ่แทรกซึมเบียดเข้าไปในเซลล์ดีที่อยู่รอบด้าน อยู่กันอย่างไม่เป็นระเบียบ มีการกระจายเข้าไปในหลอดเลือด น้ำเหลือง สู่อวัยวะอื่น ๆ และไปเจริญเติบโตขึ้นที่นั่น ต่อมาจะทำให้เนื้อเยื่อของอวัยวะนั้นเสียไป ถ้าเกิดขึ้นในอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย เช่น ปอด ตับ สมอง จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
   
          สาเหตุของการเกิดมะเร็งในร่างกายคนนั้น ไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่มีการทดลองในสัตว์พบว่า เกิดจากเชื้อไวรัส, สารเคมี แผลเรื้อรัง ปรสิตบางชนิด มะเร็งที่เกิดจากสารเคมีในสัตว์ทดลองเรียกว่า คาร์ซิโนเจน (Carcinogen) ซึ่งเป็นตัวทำให้โครโมโซมซึ่งอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ผิดปกติไป พร้อมทั้งกระจายออกไปยังเซลล์อื่น ๆ และเป็นอันตรายต่อร่างกายในที่สุด
    

          อาการของการเกิดมะเร็งในระยะเริ่มแรกอาจไม่มีการแสดงออกมาอย่างชัดเจน แต่ก็พอจะสังเกตความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ที่พอจะตั้งข้อสงสัยว่าเกิดมะเร็งได้เป็นบางกรณี ดังนี้

          1.เป็นตุ่ม ก้อน หรือแผลที่ผิวหนัง เต้านม ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม หรือที่ลิ้นโตขึ้นผิดปกติ

          2.หูด หรือปานที่โตขึ้นผิดปกติ

          3.เป็นแผลเรื้อรัง ไม่รู้จักหายและโตขึ้น

          4.เสียงแหบอยู่เรื่อย ๆ และไอ โดยหาสาเหตุไม่ได้

          5.ตกขาว หรือเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด

          6.ท้องอืด เบื่ออาหาร และผอมลงมาก หรือกลืนอาหารลำบาก

          7.การเปลี่ยนแปลงในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะที่ผิดปกติวิสัย
   
          นอกจากอาการเหล่านี้ ยังดูได้จากประวัติของครอบครัว ถึงแม้ว่าโรคมะเร็งส่วนใหญ่ไม่ใช่โรคสืบเนื่องมาจากพันธุกรรมโดยตรง แต่มีความโน้มเอียงที่จะเกิดในพี่น้องครอบครัวเดียวกันได้ เช่น มะเร็งเต้านม

          ส่วนการประกอบอาชีพ หรือสิ่งแวดล้อมบางอย่าง เป็นสาเหตุส่งเสริมให้เกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ เช่น ผู้ที่ทำงานใกล้สารกัมมันตภาพรังสีเป็นระยะเวลานาน ๆ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งในเม็ดเลือดขาว หรือพฤติกรรมเสี่ยงส่วนตัว เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่มาก ๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งในปอดสูงมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่มีประวัติการร่วมเพศตั้งแต่อายุน้อย ๆ หรือพฤติกรรมทางเพศผิดปกติ ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งที่อวัยวะเพศได้มากกว่าคนปกติทั่วไป
   
          การตรวจร่างกายเป็นวิธีที่ค้นหามะเร็ง หรือกล่าวอีกนัยว่าเป็นการป้องกันความรุนแรงเมื่อเกิดโรคมะเร็ง โดยมักจะตรวจในอวัยวะที่สำคัญ เช่น

          ผิวหนังและเนื้อเยื่อบางส่วน

          ศีรษะและคอ

          ท้อง (กระเพาะอาหารลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ ม้าม ไต)

          อวัยวะเพศ

          เพราะเมื่อเกิดโรคมะเร็งกับอวัยวะเหล่านี้จะมีความรุนแรงมากกว่าอวัยวะอื่น ๆ การตรวจได้แก่ การตรวจในห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ เอกซเรย์ส่วนต่าง ๆ การฉีดสารกัมมันตรังสีบางชนิดแล้วดูภาพการกระจายของสารกัมมันตรังสีนั้น ๆ ซึ่งสามารถทำได้ หรือการตรวจเซลล์วิทยา พยาธิวิทยา และการตัดเนื้อเยื่อที่สงสัยไปตรวจ  

แนวทางการต้านมะเร็ง

          มีการวิจัยโรคมะเร็งว่าเป็นโรคที่ป้องกันได้ และสาเหตุการเกิดโรคเกี่ยวข้องกับอาหารถึงร้อยละ 35 และสามารถลดความเสี่ยงของโรค โดยการเปลี่ยนนิสัยการบริโภคไปในทางที่ดี
   
          การบริโภคไปในทางที่ดี คือ การรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เน้นพืชผักผลไม้และเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ เพราะในอาหารเหล่านี้จะมีเส้นใยอาหารมากและมีสารแอนติออกซิแดนซ์ (Antioxidant) หรือสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation Reaction) เป็นปฏิกิริยาการทำลายที่มีผลในการทำลายเซลล์หรือเนื้อเยื่อ
   
          ตามหลักการแพทย์แผนไทย มีการส่งเสริมการรับประทานอาหารตามหลักของธาตุเจ้าเรือน เพราะได้สารอาหารเหมาะสมกับที่ร่างกายของบุคคลผู้นั้นอย่างแท้จริง หรือเน้นในเรื่อง "กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นพื้น" แต่ในยุคปัจจุบันการเลือกผักและปลาก็ควรระวังในเรื่องของสารเคมีและการตัดต่อพันธุกรรม เช่น ควรหลีกเลี่ยงปลาดุก เพราะทำให้ไขมันเพิ่ม หรือปลาทับทิมซึ่งเป็นปลาที่ไม่มีเพศ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง

          ส่วนผัก นอกจากระมัดระวังเรื่องสารเคมีแล้ว ต้องคำนึงถึงโอสถสารในผักด้วย เพราะผักบางชนิดมีสารในผักที่ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวาน เป็นต้น

   
          แนวทางในการดูแลสุขภาพของเรานั้นต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาหาความรู้ดู เพื่อป้องกันก่อนเจ็บป่วย หรือเมื่อก้าวสู่การเป็นโรคแล้วก็ต้องรับมือได้อย่างมีสติ